วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบ 5E
กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
· ขั้นสร้างความสนใจ(engagement) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองจาก ความสงสัย หรืออาจเริ่มจากความสนใจของตัวนักเรียนเองหรือเกิดจากการอภิปรายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์   ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่เพิ่งเรียนรู้มาแล้ว เป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำถาม กำหนดประเด็นที่จะศึกษา ในกรณีที่ยังไม่มีประเด็นใดน่าสนใจ ครูอาจให้ศึกษาจากสื่อต่าง ๆ หรือเป็นผู้กระตุ้นด้วยการเสนอประเด็นขึ้นมาก่อน แต่ไม่ควรบังคับให้นักเรียนยอมรับประเด็นหรือคำถามที่ครูกำลังสนใจ เป็นเรื่องที่จะใช้ศึกษา เมื่อมีคำถามที่น่าสนใจ และนักเรียนส่วนใหญ่ยอมรับให้เป็นประเด็นที่ต้องการศึกษา จึงร่วมกันกำหนดขอบเขตและแจกแจงรายละเอียดของเรื่องที่จะศึกษาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาจรวมทั้งการรวบรวมความรู้ประสบการณ์เดิม หรือความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องหรือประเด็นที่จะศึกษามากขึ้น และ   มีแนวทางที่ใช้ในการสำรวจตรวจสอบอย่างหลากหลาย
· ขั้นสำรวจและค้นหา (exploration) เมื่อทำความเข้าใจในประเด็นหรือคำถามที่สนใจจะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วก็มีการวางแผนกำหนดแนวทางการสำรวจตรวจสอบ ตั้งสมมติฐาน กำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ ลงมือปฏิบัติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ วิธีการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี เช่น ทำการทดลอง ทำกิจกรรมภาคสนาม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์จำลอง (simulation) การศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงหรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป
· ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (explanation) เมื่อได้ข้อมูลอย่างเพียงพอจากการสำรวจตรวจสอบแล้วจึงนำข้อมูล ข้อสนเทศ ที่ได้มาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลที่ได้ในรูปต่าง ๆ เช่น บรรยายสรุป สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หรือวาดรูป สร้างตาราง ฯลฯ การค้นพบในขั้นนี้อาจเป็นไปได้หลายทาง เช่น สนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้ โต้แย้งกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้กำหนดไว้ แต่ผลที่ได้จะอยู่ในรูปใดก็สามารถสร้างความรู้และช่วยให้เกิดการเรียนรู้
· ขั้นขยายความรู้ (elaboration) เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือแนวคิดที่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติม หรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ถ้าใช้อธิบายเรื่องต่างๆ ได้มาก็แสดงว่าข้อจำกัดน้อย ซึ่งก็จะช่วยให้เชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ และทำให้เกิดความรู้กว้างขวางขึ้น
· ขั้นประเมิน (evaluation) เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกระบวนการต่างๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้าง อย่างไร และมากน้อยเพียงใด จากขั้นนี้จะนำไปสู่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆการนำความรู้หรือแบบจำลองไปใช้อธิบายหรือประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์หรือเรื่องอื่นๆ จะนำไปสู่ข้อโต้แย้งหรือข้อจำกัดซึ่งก่อให้เป็นประเด็นหรือคำถาม หรือปัญหาที่จะต้องสำรวจตรวจสอบต่อไปทำให้เกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จึงเรียกว่า inquiry cycleกระบวนการสืบเสาะหาความรู้จึงช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาหลักและหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความรู้ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อไป


ที่มา: หนังสือการจัดสาระการเรียนรู้กลุ่มวิทยาศาสตร์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันส่งเสริมการสอน
       วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทิศทางประเทศไทย ช่วงปี 2555-2559 (เน้นด้านสังคม) ทิศทาง สพฐ.ปี 2555 และปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ


ทิศทางประเทศไทย ช่วงปี 2555-2559


      ขณะนี้ได้มีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) แล้ว เมื่อ 26 ตุลาคม 2554 แผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนในทุกระดับ พยายามตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สพฐ. จะเกี่ยวข้องในด้านของสังคมมากที่สุด ดังนั้นจะขอหยิบยกการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมมานำเสนอ ดังนี้
      ในช่วง 5 ปี จากนี้ไป ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โครงสร้างประชากรวัยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เด็กและวัยแรงงานลดลง มีปัญหาเรื่องคุณภาพทางการศึกษา ระดับสติปัญญาของเด็ก พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ผลิตภาพแรงงานต่ำ มีสวัสดิการทางสังคมเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ด้อยโอกาส ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง มีความเหลื่อมล้ำกันในด้านรายได้และโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร มีความเสื่อมถอยทางคุณธรรมและจริยธรรม มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด และการพนันในหมู่เด็กและเยาวชนมากขึ้น แต่คนไทยก็มีความตื่นตัวทางการเมือง และให้ความสำคัญ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้น
      วิสัยทัศน์ของแผนฯ 11 กำหนดไว้ว่า “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาได้กำหนดไว้ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาความรู้สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
3. ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน
4. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
5. ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
6. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สพฐ. จะเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 มากที่สุด ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับ
1) การปรับโครงสร้างและการกระจายตัวประชากรให้เหมาะสม
2) การพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง
3) การส่งเสริม การลดปัจจัยการเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม
4) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสังคม

ทิศทาง สพฐ. ปี 2555
       งบประมาณปี 2555 ยังเหลืออีกสองขั้นตอนจึงจะจบสิ้นกระบวนการอนุมัติงบประมาณ วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ และการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ ซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันที่ 27 มกราคม 2555 นี้ จากนั้นงบประมาณก็คงจะจัดสรรได้ในราวกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2555 สพฐ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ แผนงาน ผลผลิต โครงการดังนี้
วิสัยทัศน์
      “ สพฐ. เป็นองค์กรขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยให้สูงเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของโลก เข้าสู่มาตรฐานสากล ภายในปี 2563 ” (ปรับ คำว่า สูงเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของโลก ออก และใช้คำว่า เข้าสู่มาตรฐานสากล แทน)
พันธกิจ
     “พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความสามารถตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาสู่คุณภาพระดับสากล”
       จากการประมวลปัญหาในรอบปี 2554 ที่ผ่านมาก็พบว่าเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ยังแก้ไม่ตก แต่มีแนวโน้มดีขึ้น ปัญหาดังกล่าวคือ ยังมีเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ไม่เรียนต่อ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักยังไม่น่าพอใจ ขาดครูสาขาเฉพาะทางการบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพ และจำนวน โรงเรียนมีมากเกินความจำเป็น
กลยุทธ์
1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับตามหลักสูตรและส่งเสริมความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือการเรียนรู้
2. ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงครอบคลุมผู้เรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
4. พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
5. พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการตามแนวทางการกระจายอำนาจ ตามหลักธรรมาภิบาล
6. พัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ยากลำบาก
แผนงาน
1. แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. แผนงานสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเพื่อการศึกษา
3. แผนงานสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. แผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา
ผลผลิต
ผลผลิตที่ 1 : ผู้จบการศึกษาก่อนประถมศึกษา
ผลผลิตที่ 2 : ผู้จบการศึกษาภาคบังคับ
ผลผลิตที่ 3 : ผู้จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย
ผลผลิตที่ 4 : เด็กพิการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาสมรรถภาพ
ผลผลิตที่ 5 : เด็กด้อยโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผลผลิตที่ 6 : เด็กผู้มีความสามารพิเศษได้รับการพัฒนาศักยภาพ
โครงการ
1. โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา
3. โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. โครงการคืนครูให้นักเรียน
5. โครงการพัฒนาครูทั้งระบบเต็มตามศักยภาพ
6. โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
7. โครงการมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการ
8. โครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมโลก
    ขอเรียนให้ทราบว่าเราเหลือเวลาทำงานกันอย่างเต็มที่ประมาณ 7 เดือน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า 5 เดือนที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำงาน ทำไม่เต็มที่ต่างหากและถึงแม้ว่า งบประมาณจะถูกตัดไปช่วยน้ำท่วม และภัยหนาวเสียส่วนหนึ่ง สพฐ. ก็พยายามจัดสรรให้ สพป./สพม. ให้มากที่สุด และขณะนี้ขอตรึงยอดงบประมาณพื้นฐานไว้ที่ 8 ล้าน และ 6 ล้าน ตามลำดับ ส่วนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับจัดทำโครงการต่างๆ นั้น คงต้องรอฟังนโยบาย ของรัฐมนตรีท่านใหม่สักนิดนึงครับ ว่าท่านจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ คงไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ สพป./สพม. คงทราบยอดเงินงบประมาณทั้งหมดครับ

ปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ
        ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Program me for International Student Assessment : PISA) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือ และพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยประเมินนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือกลุ่มอายุ 15 ปี ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ประเมินทุกๆ 3 ปี ประเมินครั้งแรก คือ PISA 2000 จะเน้นการอ่าน PISA 2003 เน้นคณิตศาสตร์ PISA 2006 เน้นวิทยาศาสตร์ PISA 2009 เน้นการอ่าน ประเมินครั้งต่อไป คือ ปีนี้ ก้จะเน้นคณิตศาสตร์ วิชาที่เน้นจะให้น้ำหนักร้อยละ 60 ที่เหลืออีกสองวิชา จะให้นำหนักวิชาร้อยละ 20 ผลการประเมิน PISA 2009 สำหรับประเทศไทย มีดังนี้
- การอ่าน ได้ 421 คะแนน ลำดับที่ 50 (ค่าเฉลี่ย 492)
- คณิตศาสตร์ ได้ 419 คะแนน ลำดับที่ 52 (ค่าเฉลี่ย 496)
- วิทยาศาสตร์ ได้ 425 คะแนน ลำดับที่ 49 (ค่าเฉลี่ย 501)
    ผลการประเมิน พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนต่ำทุกวิชา และมีแนวโน้มลดลง จากการนำข้อมูลผลการประเมิน 65 ประเทศ (OECD 34 ประเทศ ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD 31 ประเทศ) มาวิเคราะห์พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ มีดังนี้
1. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องจัดให้นักเรียนมีโอกาสในการเรียนเท่าเทียมกัน ไม่ว่านักเรียนจะมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจ – สังคม ต่างกันมากน้อยเพียงไร
2. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะมีความเป็นอิสระสูงในการออกแบบการเรียนการสอนและการประเมินผล ไม่แข่งขันการรับนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีทางเลือกหลากหลาย
3. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จมักจะมีนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมดี
4. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองมักเลือกเพราะคุณภาพทางวิชาการมากกว่าความต้องการที่จะให้โรงเรียนช่วยเหลือด้านการเงิน
5. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะมีการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ให้ความสำคัญกับคุณภาพครู มากกว่าทำชั้นเรียนมีขนาดเล็ก เพื่อให้ครูสอนได้ทั่วถึง
6. นักเรียนและครูในโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีระเบียบวินัย และมีพฤติกรรมทางบวก
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  ที่นี่มีคำตอบ โดย ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก  จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 1/2555  วันที่ 18 ม.ค. 2555