วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ทิศทางการจัดการศึกษา ปี 2555

       เพื่อ ให้เกิดภาวะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทิศทางการจัดการศึกษา ปี 2555 ซึ่งล่าสุดได้มีการประชุม องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ กรอบแนวคิด เป้าหมาย ประเด็นยุทธศาสตร์ กลไลการขับเคลื่อน ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้


วิสัยทัศน์
        ภาย ใน ปี 2555 กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นองค์กรหลักที่ทรงประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคลากรของชาติ เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมให้กับประเทศ ด้วยฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพของประเทศ

พันธกิจ
      พัฒนา ยกระดับ และจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถให้ประชาชนได้มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่งคั่งและ มั่นคง เพื่อเป็นบุคลากรที่มีวินัย เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม

กรอบแนวคิด
1. คำนึงถึงศักยภาพและบริบทรอบๆ ตัวผู้เรียน
2. พัฒนาและยกระดับองค์ความรู้และกระบวนการเรียนการสอนให้ทัดเทียมอารยะประเทศ ด้วยการบริหารจัดการและเทคโนโลยีสมัยใหม่
3. มุ่งสู่เป้าหมายของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับศักยภาพในการทำงานให้กับบุคลากรคนไทย ให้แข่งขันได้ในระดับสากล

เป้าหมาย
2 กรอบระยะเวลาของแผน หมายถึง ช่วงเวลาในการดำเนินงานตามแผน ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่
       2 ปี แรก หมายถึง พ.ศ. 2555-2556 (2012-2013) และ
       2 ปี หลัง หมายถึง พ.ศ. 2557-2558 (2014-2015) (AEC 2015)

5 ภูมิภาคหลักของโลก หมายถึง ทวียุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา เพื่อให้ คนไทย “รู้ศักยภาพเขา”

5 ศักยภาพหลักของพื้นที่ หมายถึง ศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของพื้นที่ตามหลักภูมิอากาศ ศักยภาพของภูมิประเทศ และทำเลที่ตั้งของแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ และศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่เพื่อให้คนไทย “รู้ศักยภาพเรา”

5 กลุ่มอาชีพใหม่ หมายถึง กลุ่มหลักสูตรใหม่ด้าน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย กรรม ความคิดสร้างสรรค์ และด้านอำนวยการ บริหารจัดการและการบริการ เพื่อให้คนไทยสามารถปรับตัว “เท่าทัน และแข่งขันได้”

ประเด็นยุทธศาสตร์
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน/ประชาคมโลก
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสถานศึกษาและองค์ความรู้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาครูทั้งระบบ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาศักยภาพผู้เรียน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 การวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 7 การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 8 การส่งเสริมการมีงานทำ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 9 การบริหารจัดการกลยุทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ

โครงการสำคัญ (Flagship)
1. โครงการกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู
2. โครงการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)
3. โครงการกองทุนตั้งตัวได้
4. โครงการครูคลังสมอง
5. โครงการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ
6. โครงการวิจัยศักยภาพพื้นที่
7. โครงการปฏิรูปเงินเดือนและค่าตอบแทน
8. โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
9. โครงการพัฒนาผู้นำตามธรรมชาติ
10.โครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
11.โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน
12.โครงการเทียบระดับการศึกษา
13.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต
14.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
15.โครงการถ่ายทอดผลงานวิจัย
16.โครงการมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการ
17.โครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมโลก
18.โครงการพัฒนาระบบบริหารวิสาหกิจเพื่อการศึกษา
19.โครงการพัฒนาการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
20.โครงการโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กลไลการขับเคลื่อน
- การเผยแพร่ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
- การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจใน 5 ภูมิภาค โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ต.ค. – พ.ย. 54)
- การจัดทำสื่อเผยแพร่ทุกรูปแบบ (ต.ค. 54 – ก.ย. 55)
- การพัฒนาบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ
- การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการติดตามและประเมินผล ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นเลขานุการ


ที่มา จดหมายเปิดผนึก ผอ.สำนักนโยบายและแผน สพฐ. 10/2554

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เทคโนโลยี Tablet กับการศึกษา

            กระแสความนิยมใน Tablet PC หรือเครื่องคอมพิวเตอร์แบบกระดานชนวน ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง บริษัทต่างๆ ทยอยกันเปิดตัวTablet PC ของตัวเองอย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่ค่ายมือถือชื่อดังอย่าง BlackBerryที่เพิ่งเปิดตัว BlackBerry Playbook ซึ่งเป็น Tablet PC ตัวเก่งตัวแรกของบริษัท ไปอย่างคึกคักในสหรัฐอเมริกาและแคนนาดา ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก Apple ที่ยืนตระหง่านเป็นเจ้าบัลลังค์ Tablet PC ตระกูล iPad อยู่ขณะนี้

             เหตุผลที่ Tablet PC กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ นั่นเพราะประโยชน์อันหลากหลาย และรูปแบบที่ทันสมัย พกพาได้สะดวกสบาย จะใช้ต่ออินเตอร์เน็ตก็ได้ ถ่ายรูปก็ดี เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ เช็คข้อมูลข่าวสาร อ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์หรือ E-Book ก็ยังได้ อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจล่าสุดในต่างประเทศของ Admob กลับพบว่า ผู้คนที่ยอมควักกระเป๋าเพื่อครอบครองเจ้า Table PC นั้น กลับใช้ในการนำมาเล่นเกมส์มากที่สุด รองลงมาคือใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูล เช็คอีเมล์ เช็คข้อมูลข่าวสาร และใช้งานพวก Facebook Twitter โดยอันดับรั้งท้ายคือ ใช้อ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์ หรือ E-Book


                 แต่ประโยชน์สุดๆ ของเจ้า Tablet PC นี้คือการใช้อ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์ หรือ E-Book สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่าE-Book ผมขอเล่าคร่าวๆ ให้ฟังสักนิดนะครับ เจ้า E-Book นี่ก็หน้าตาเหมือนกันกับหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มๆ บนกระดาษนี่ล่ะครับ แต่จะต้องอ่านผ่านหน้าหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอของ Tablet PC ซึ่งมีขนาดหน้าจอใหญ่พอๆ กับหนังสือจริงๆ เลยทีเดียว อีกทั้งยังสามารถอ่านได้ในที่มืดได้อีกด้วยโดยใช้แสงสว่างจากจอเข้ามาเป็นตัวช่วย


                    ปัจจุบันนี้เริ่ม มีการใช้ Tablet PC ในแวดวงการศึกษากันอย่างคึกคักเลยทีเดียว ตัวอย่งเช่นในรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นลงทุนซื้อ Table PC แจกให้กับนักเรียนเพื่อใช้แทนหนังสือในรูปแบบเดิมๆ ทั้งนี้เพราะTablet PC จะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดพิมพ์หนังสือและตำราเรียนได้อย่างมากมาย อีกทั้งยังทำให้การปรับปรุงเนื้อหาตำราเรียนสามารถทำได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอหนังสือเป็นเล่มๆ หมดแล้วค่อยพิมพ์ใหม่แบบเดิมๆ อีกต่อไป เพราะหนังสือต่างๆ ที่อยู่บน Tablet PC นั้นล้วนแล้วแต่เป็นหนังสืออิเลคทรอนิคส์ที่ถูกเก็บไว้ในรูปดิจิตอล จึงสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

                   Tablet PC หนึ่งเครื่องนั้นสามารถบรรจุหนังสือได้เป็นพันๆ เล่ม โดยผู้อ่านสามารถเลือกเล่มไหนขึ้นมาอ่านก่อนก็ได้ ความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งของTablet PC คือการเชื่อมโยงครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา เข้าด้วยกันผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการเรียนการสอนหมดไป ครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา สามารถอยู่กันคนละที่แต่เข้ามาเรียนพร้อมกันแบบเห็นหน้าเห็นตาผ่านทางกล้องที่ถูกติดตั้งมาบนTablet PC ได้ จึงทำให้การเรียนการสอนทางไกลเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย และเข้าไปถึงกลุ่มคนทุกชั้นไม่ว่าจะอยู่ในชนบทห่างไกลแค่ไหนก็ตาม

                    สำหรับในประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยบางแห่งเริ่มมีการแจก Tablet PC ให้กับนักศึกษาใหม่แล้ว แต่การนำไปประยุกต์ใช้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนแน่นอนเพราะยังต้องอาศัยการพัฒนาโปรแกรมมารองรับรวมทั้งเนื้อหาตำราในรูปแบบ E-Book ที่จะต้องมีจำนวนมากกว่านี้ ในขั้นนี้ Tablet PC ในไทยจึงอาจเป็นได้แค่เครื่องมือที่ไว้จูงใจนักศึกษาหรือสร้างภาพลักษณ์ทันสมัยให้กับมหาวิทยาลัยก่อน แต่ในอนาคต เมื่อราคาจำหน่ายของ Tablet PC ถูกลงกว่านี้จะมีจำนวนของหนังสือตำราเรียนต่างๆ ทยอยเข้าสู่E-Book มากขึ้น รวมทั้งจะมีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อรองรับการอ่าน E-Book แบบไทย ๆ มากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นTablet PC จะกลายเป็นช่องทางใหม่ ที่เปลี่ยนรูปโฉมการเรียนการสอนและการกระจายความรู้ให้เข้าถึงคนไทยได้อย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียวครับ


บทความโดย: อ.ธวัชชัย เกิดประดับ @Ajbomb ผู้แต่งหนังสือ “Marketing on Twitter” และ “คำรัก ปักใจ ฉึกฉึก” www.facebook.com/AjbombFC

Tablet PC คืออะไร???

          หลายๆคนพอพูดถึง "แท็บเล็ต - Tablet" แล้วอาจจะงงว่ามันคืออะไร ?? แต่ถ้าพูดว่า iPad, Samsung Galaxy Tab แล้วล่ะก็ต้องร้อง อ๋อ กันแน่นอนซึ่ง iPad และ Samsung Galaxy Tab นั้นจริงๆแล้วเป็นเพียงแค่ชื่อรุ่นเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วตัวเครื่องเหล่านี้จะเรียกกันว่า "แท็บเล็ต - Tablet"

          "แท็บเล็ต - Tablet" ในความหมายแท้จริงแล้วก็คือแผ่นจารึกที่เอาไว้บันทึกข้อความต่างๆโดยการเขียน (อาจจะเป็นกระดาษ, ดิน, ขี้ผื้ง, ไม้) และมีการใช้กันมานานแล้วในอดีต แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่ใช้แนวคิดนี้ขึ้นมาแทนที่ซึ่งมีหลายบริษัทได้ให้คำนิยามที่แตกต่างกันไป หลักๆแล้วก็มี 2 ความหมายด้วยกันคือ "แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC (Tablet Personal Computer)" และ "แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ - Tablet Computer" หรือเรียกสั้นๆว่า "แท็บเล็ต - Tablet"

แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC (Tablet personal computer)
        "แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC (Tablet personal computer)" คือ "เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถพกพาได้และใช้หน้าจอสัมผัสในการทำงานเป็นอันดับแรก ออกแบบให้สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากทาง Microsoft ได้ทำการเปิดตัว Microsoft Tablet PC ในปี 2001 แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปและไม่เป็นที่นิยมมากนัก
"แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC" ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือ Laptops ตรงที่อาจจะไม่มีแป้นพิมพ์ในการใช้งาน แต่อาจจะใช้แป้นพิมพ์เสมือนจริงในการใช้งานแทน (มีแป้นพิมพ์ปรากฎบนหน้าจอใช้การสัมผัสในการพิมพ์) "แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC" ทุกเครื่องจะมีอุปกรณ์ไร้สายสำหรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและระบบเครือข่ายภายใน
                                            
                           ภาพ HP Compaq tablet PC ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows


แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ - Tablet Computer หรือ แท็บเล็ต - Tablet

            "แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ - Tablet Computer" หรือเรียกสั้นๆว่า "แท็บเล็ต - Tablet" คือ "เครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ในขณะเคลื่อนที่ได้ขนาดกลางและใช้หน้าจอสัมผัสในการทำงานเป็นอันดับแรก มีคีย์บอร์ดเสมือนจริงหรือปากกาดิจิตอลในการใช้งานแทนที่แป้นพิมพ์คีย์บอร์ด และมีความหมายครอบคลุมถึงโน๊คบุ๊คแบบ convertible ที่มีหน้าจอแบบสัมผัสและมีแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดติดมาด้วยไม่ว่าจะเป็นแบบหมุนหรือแบบสไลด์ก็ตาม" ซึ่งทางบริษัท Apple ผู้ผลิต "ไอแพด - iPad" ได้เรียกอุปกรณ์ของตัวเองว่าเป็น "แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ - Tablet Computer" เครื่องแรก
                                                                   ภาพ Apple iPad
ความแตกต่างระหว่าง "แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ - Tablet computer" และ "แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC"

           เริ่มแรก "แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC" จะใช้หน่วยประมวลผลกลางหรือ CPU ที่ใช้สถาปัตยกรรม x86 ของ Intel เป็นพื้นฐานและมีการปรับแต่งนำเอาระบบปฏิบัติการหรือ OS ของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ Personal Computer - PC มาทำให้สามารถใช้การสัมผัสในการทำงานได้ ตัวอย่างเช่น Windows 7 หรือ Ubuntu Linux แทนที่จะใช้แป้นพิมพ์คีย์บอร์ดหรือเมาส์ และเนื่องจากเป็นการรวมกันระหว่างระบบปฏิบัติการ Windows และหน่วยประมวลผลกลางหรือ CPU ของ Intel ทำให้มีคนเรียกกันว่า "Wintel"    ต่อมาในปี 2010 ได้เกิดแท็บเล็ตที่แตกต่างจาก "แท็บเล็ต พีซี - Tablet PC" ขึ้นมาโดยไม่มีการยึดติดกับ Wintel แต่ไปใช้ระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนนั่นก็คือ "แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ - Tablet Computer หรือเรียกสั้นๆว่า แท็บเล็ต - Tablet" ซึ่งจะใช้หน้าจอแบบ capacitive แทนที่ resistive ทำให้สามารถสัมผัสโดยการใช้นิ้วได้โดยตรงและสัมผัสพร้อมกันทีละหลายจุดได้หรือ multi-touch ประกอบกับการใช้หน่วยประมวลผลกลางหรือ CPU ที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM แทนซึ่งสถาปัตยกรรม ARM นี้ทำให้แท็บเล็ตนั้นมีการใช้งานได้ยาวนานกว่าสถาปัตยกรรม x86 ของ Intel หลายๆคนคงจะรู้จักแท็บเล็ตตัวนี้กันเป็นอย่างดีนั้นก็คือ ไอแพด (iPad) นั้นเอง
** สรุปความหมายของแท็บเล็ตสั้นๆ ก็คือ คอมพิวเตอร์พกพาหรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานขณะเคลื่อนที่ได้ขนาดกลางที่มีหน้าจอแบบสัมผัสในการใช้งานเป็นหลัก

แต่นั่นก็เป็นมุมมองของแต่ละบริษัทและแต่ละคนว่าจะเรียกมันว่าอะไร ในอนาคตอาจจะมีการนิยามคำว่า แท็บเล็ต ใหม่ให้มันกระชับและครอบคลุมมากกว่านี้ก็ได้ค่ะ

เรียบเรียงโดย isack แหล่งข้อมูลจาก
•http://en.wikipedia.org/wiki/Tablet_personal_computer#cite_note-3
•http://en.wikipedia.org/wiki/Tablet_computer#cite_note-Editors_PC_Magazine-0
•http://en.wikipedia.org/wiki/X86
•http://en.wikipedia.org/wiki/Wax_tablet